แบ่งปัน
ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คว้าตำแหน่งหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศมาตลอด ในปีงบประมาณ 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ศธ.ได้รับอนุมัติงบประมาณมากถึง 460,411.6 ล้านบาท และวางแผนเสนอของบประมาณรายจ่าย ปี 2558 จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวงเงิน 703,276.4 ล้านบาท แน่นอนว่าวงเงินที่เสนอขอไปจะถูกปรับลดลง แต่จะไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยสำนักงบประมาณได้ประเมินไว้คร่าว ๆ ว่า งบฯ ด้านการศึกษาของไทยปีนี้ จะไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท
เงินก้อนโตที่ทุ่มเทลงไปดูเหมือนเป็นการลงทุนสูง สวนทางกับคุณภาพการศึกษาของประเทศที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผลการทดสอบทางการศึกษาของเด็กไทยในภาพรวมมักจะครองตำแหน่ง “บ๊วย” หรือ “เกือบรั้งท้าย” ทั้งในเวทีอาเซียน และเวทีนานาชาติ
เมื่อเจาะลึกลงในภาพรวม พบว่า วงเงินก้อนโตที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น เม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 54 % เป็นงบฯ บุคลากร ที่ต้องจ่ายเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ให้แก่ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา รองลงมา 32% เป็นเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาสามารถนำไปใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างครูสอน หรือ ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีเงินที่ตกถึงมือเด็ก คือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ส่วนที่เหลือ 7% เป็นงบฯ ดำเนินงาน 5% เป็นงบฯ ลงทุน และอีกไม่ถึง 2% เป็นงบฯ รายจ่ายอื่น ๆ
ลึกลงไปอีก งบฯ ของ ศธ. ที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี เป็นการเพิ่มในส่วนของเงินเดือนครู แต่งบฯ อุดหนุน ที่ถือเป็นเงินพัฒนาเด็กกลับถูกแช่แข็งไม่ขยับมานาน จนหลายคนเคยพูดว่า เมื่อเม็ดเงินส่วนใหญ่ไปกองอยู่ที่การจ่ายค่าตอบ แทนให้แก่บุคลากร หนทางในแก้ไขปัญหาก็ควรลดคนทำงานลง แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะครู คือหัวใจสำคัญของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ และทุกวันนี้บรรดาหน่วยงานใน ศธ.ต่างก็ประกาศว่า ทั้งกระทรวงยังขาดครูผู้สอน รวมกว่า 30,000 อัตรา เมื่อลดบุคลากรลงไม่ได้ ก็ต้องทำให้คนที่มีอยู่ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ และคุ้มค่ากับเม็ดเงิน
ที่สำคัญการจัดสรรงบฯ แบบแยกหมวดบุคลากร กับ เงินอุดหนุนออกจากกัน และให้เงินอุดหนุนสถานศึกษาตามรายหัวของนักเรียนในโรงเรียนอย่างปัจจุบันนี้ ยังส่งผลให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาระหว่าง เด็กในเมืองกับชนบทมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการเพิ่มเงินให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กบ้างแล้วก็ตาม
ถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมารื้อระบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของไทยกันใหม่ โดยนำงบฯ เงินเดือนบุคลากร มารวมกับเงินอุดหนุนรายหัว แล้วบวกด้วยตัวแปรต่าง ๆ อาทิ พื้นที่ตั้ง ขนาดโรงเรียน หรือ รายได้ประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เด็กด้อยโอกาส โรงเรียนชนบทห่างไกลได้รับเงินอุดหนุนมากขึ้น และนำหลักการกระจายอำนาจมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ คือ มอบเงินงบฯสำหรับสถานศึกษา
นั้น ๆ ทั้งก้อน ให้สถานศึกษาไปบริหารจัดการเองว่า จะนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนเท่าไหร่ จะจ้างครูเพิ่มหรือไม่ จะมีกลยุทธ์ใดดึงดูดให้ครูสร้างคุณภาพผู้เรียน จะมีการจัดกิจกรรมอะไรให้แก่เด็ก จะขยับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนได้ถึงระดับใด โดยมีการทำข้อตกลงที่ชัดเจน หากได้ผลงานตามเป้าหมายที่วางไว้ แล้วมีเงินเหลือ ก็ถือว่าเป็นเงินของสถานศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ แต่ถ้าไม่พอก็ต้องรับผิดชอบในผลงานที่เกิดขึ้นเช่นกัน
สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ส่วนกลางต้องมีงบฯ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงทั้งแผ่นดินด้วย
ท่ามกลางวิกฤติมีโอกาสเสมอ ในยุค คสช.อะไรที่ทำได้ยากในสภาวะปกติ หากเป็นเรื่องที่ดีแล้วก็เชื่อว่าจะผลักดันได้ไม่ยาก ถ้าคนในวงการศึกษากล้าลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง.
ถึงเวลาแล้วที่ต้องรื้อระบบการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของไทยกันใหม่ โดยนำงบฯเงินเดือนบุคลากร มารวมกับเงินอุดหนุนรายหัว แล้วบวกด้วยตัวแปรต่างๆ และนำหลักการกระจายอำนาจมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
|