ในกระแสการปฏิรูปการศึกษาไทยที่เหมือนน้ำเชี่ยวกราก เรือแจว เรือจ้าง เรือพาย ต่างคัดท้ายกันสุดฝีพาย เรือเกลือไม่ปรับระบบคงอยู่ยาก ขอเป็นกำลังใจให้กัปตันและลูกเรือ หางเสือและฝีพาย กับตันต้องใช้เข็มทิศตัวเดียวกันจะได้ไปถึงที่หมายรอดปลอดภัย อย่างไรก็อย่าให้เป็นเรืออลังการเว่อร์แต่ไม่สามารถข้ามผ่านอุปสรรคอย่างไททานิคก็แล้วกัน เสียดายบลูไดมอน
ความชัดเจนของนโยบายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนี้บทความที่ได้นำมาวางให้ซึมซับกันค่ะ
ปฏิรูปการศึกษา ภายใต้คำประกาศของ คสช.
เพชร เหมือนพันธุ์ : ข้าราชการบำนาญ (อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ เขต1)
แสงสว่างเล็กๆ ได้เกิดขึ้นท่ามกลางของความมืดมนในการแก้ปัญหาความตกต่ำด้านคุณภาพการศึกษาไทยมาเป็นเวลาที่ยาวนาน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงนโยบาย (คสช.) เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557 เวลา 20.20 น. ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หลังจากวันทำรัฐประหารมาได้ 22 วัน ในหัวข้อ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่งเป็นเหมือนคำสัญญาประชาคม (Declaration commitment) ที่หัวหน้า คสช.ได้ประกาศต่อสาธารณะ
รายละเอียดในคำประกาศบางส่วน มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่หลายคนเป็นห่วง ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายงานที่ 3 คือ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นผู้กำกับดูแล ก่อนที่จะมีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมารับผิดชอบ ความว่า
"ระบบการศึกษา ที่หลายคนเป็นห่วงนั้นจะทำการปรับปรุงทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติไทย ความมีวินัย มีศีลธรรม ให้คำนึงถึงผลประโยชน์รวมของประเทศ รู้จักหน้าที่ของตน รู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ การบริหารการจัดการการศึกษามุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล
การบริหารจัดการศึกษา มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคล วันนี้ก็ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการ ทั้งครูและนักเรียนการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการพัฒนาด้านวัตถุหรืออะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้มากๆ วันนี้เราต้องดูเด็กก่อนว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ต้องมุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
การผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงงานคุณภาพหรือแรงงานมีฝีมือของประเทศนั้น จะต้องมีงานทำ ก็จะให้ดูเรื่องการศึกษาของพวกช่างกล ช่างฝีมืออะไรต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้จบมาแล้วมีงานทำ
เรื่องนมโรงเรียน ได้อนุมัติให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อ.ส.ค.) เป็นผู้บริหารจัดการนมทั้งระบบ และเน้นย้ำให้มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้รับประทานอย่างทั่วถึง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้กับสหกรณ์โคนมอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย
เรื่องการส่งคืนเงินกู้ กยศ.ต้องดูให้ครบทั้งระบบ ทำไมเด็กไม่ส่งคืนเงินกู้ ระบบการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เด็กที่กู้ยืมเงินไปจบแล้วไม่มีงานทำ เด็กไม่มีรายได้ เด็กจึงไม่มีเงินส่งคืน
กระทรวงศึกษาธิการต้องกลับไปทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ผมต้องการให้มุ่งเน้นสายอาชีพให้มากขึ้น วันนี้แรงงานต้องมีการพัฒนา"
นี้คือคำมั่นสัญญาที่หัวหน้า คสช.ได้ประกาศไว้ กระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่โดยตรงต้องรับเอานโยบายไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือการนำนโยบายไปแปลเป็นยุทธศาสตร์ เกรงว่าจะแปลผิดพลาดเจตนารมณ์ของผู้ประกาศ เหมือนคำกล่าวที่ว่า "หลายคนยลตามช่อง หลายคนมองเห็นโคลนตม คนเดียวตาแหลมคม เห็นเดือนดาวอยู่พราวพราย"
นักการศึกษาไทยมีหลายระดับ ระดับมหาวิทยาลัยคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับในกระทรวงศึกษาธิการคิดอีกแบบหนึ่ง ระดับครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนคิดอีกแบบหนึ่ง น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกรงว่าจะแปลนโยบายไม่เหมือนกัน
เมื่อแรกรับนโยบาย คนในกระทรวงศึกษาธิการบางท่านบอกว่า ต้องเพิ่มเนื้อหาในหลักสูตร เป็นวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในนโยบาย เพิ่มคาบการเรียนการสอนเข้าไป ส่วนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบอกว่า เนื้อหาวิชาดังกล่าวในนโยบายมีอยู่แล้วในเนื้อหาสาระกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ไม่ต้องเพิ่มคาบการเรียนในหลักสูตรเพียงแต่จัดทำหนังสือเรียนที่มีเนื้อหาสาระดังกล่าวเพิ่มเติม
ครูผู้สอนอาจแปลไปอีกแบบหนึ่งหรือรอรับคำสั่งอย่างเดียวไม่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ท่านอยากให้ทำอะไรโปรดสั่งมาครูรับสอนได้หมด เหมือนดังเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดมาแล้ว คือเมื่อผู้ใหญ่ที่มีอำนาจไปดูงานหรือไปเห็นอะไรที่ดีมาก็จับมาใส่ไว้ในหลักสูตร จับมาใส่ไว้ในห้องเรียน สั่งให้ครูจัดการเรียนการสอน ครูก็จัดให้เด็กได้เรียนจนจบเนื้อหาตามหลักสูตร แต่ผู้เรียนรับเอาที่ใส่ไว้ในหลักสูตรทั้งหมดไม่ได้ เหมือนแก้วเล็กๆ ที่บรรจุน้ำเต็มแล้วแม้ว่าท่านทั้งหลายจะพยายามเทน้ำใหม่ใส่เข้าไป น้ำนั้นก็คงล้นออกเสียทิ้งไปเปล่า เสียทั้งแรงเสียเวลา
เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ คงจะรับสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการบรรจุไว้ในสมองของเขาทั้งหมดไม่ได้
การปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะหลักสูตรบางรายวิชา ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการสอนของครู เปลี่ยนแปลงระบบการเรียนในชั้นเรียนของนักเรียน เปลี่ยนแปลงระบบการได้ฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนามหรือสถานปฏิบัติการ หรือต้องได้ออกฝึกงาน เปลี่ยนแปลงระบบการวัดผลที่ไม่สะท้อนให้เห็นความรู้ความสามารถของผู้เรียนจริง ไม่ใช่ กา ก) ข) ค) ง) จากคำตอบที่ผู้ออกข้อสอบจัดหาไว้ให้แล้ว และยังสร้างโอกาส หรือเปิดให้เด็กทุจริตในการสอบได้ คือลอกข้อสอบกันได้ง่ายขึ้น
เนื้อหารายวิชาที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำหนดมานั้นคือบางส่วนของหลักสูตรเท่านั้น ไม่ใช่หลักสูตรทั้งหมด ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายเนื้อหาวิชาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตจริงที่ไม่ได้กำหนดไว้ในเนื้อหาวิชาตามหลักสูตร เช่น ความรู้ด้านการเงินการบัญชีเบื้องต้นซึ่งเด็กทุกคนต้องใช้เงินทุกวัน ต้องวางแผนการเงินเป็น ทักษะพื้นฐานทางวิชาช่างต่างๆ พื้นฐานทางวิชาเกษตรกรรม พื้นฐานทางวิชาการค้าการพาณิชย์ พื้นฐานทางการเป็นผู้ประกอบการเบื้องต้น ฯลฯ
เนื้อหาวิชาปัจจุบัน ที่บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาในระดับอุดมศึกษาบางรายวิชา ไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมปัจจุบัน ไม่สัมพันธ์กับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของคนในยุคใหม่ ในโลกยุคใหม่ สมัยก่อนกระทรวงศึกษาธิการมีกรมวิชาการที่มาดูแลเรื่องหลักสูตร ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว กรมวิชาการถูกยุบไปเรียบร้อยแล้ว
หลักสูตรเป็นเรื่องของกระทรวงซึ่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรมาดูแล มีหลายรายวิชาที่เนื้อหาไม่มีประโยชน์กับชีวิตปัจจุบันของคนในบางสังคม ใช้เวลาเรียนเสียไปกับขยะรายวิชาที่เด็กไม่สนใจเรียน เด็กโดดเรียนบางครั้งเกิดจากสาเหตุรายวิชาเรียนไม่น่าสนใจ
การปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของ คสช.ครั้งนี้ รูปแบบการปฏิรูปก็ไม่ได้ต่างจากการปฏิรูปที่ล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมา คือเพิ่มเนื้อหาวิชา หรือจัดกลุ่มวิชาเรียนเฉยๆ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีเรียน ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลการเรียน จึงยังมองไม่เห็นอนาคต ถ้าลองเปรียบเทียบการปฏิรูปการศึกษากับการเป็นพ่อครัวปรุงอาหาร คสช. ก็คือพ่อครัวคนใหม่ที่ยังใช้ภาชนะเดิม ใช้เครื่องปรุงอาหารแบบเดิม เพียงเสริมเติมแต่งบางส่วนที่ท่านคิดว่ามันขาดไปเท่านั้น เสมือนพ่อครัวทำกับข้าว พ่อครัวในอดีตก็ทำเหมือนกับคณะท่านคือหาส่วนที่ขาดไปมาเติม แต่ไม่ได้คำนึงถึงขนาดของหม้อปรุง พอถึงคิวของท่านทำกับข้าว ท่านชิมอาหารหม้อเก่าที่เขาปรุงไว้แล้วท่านเห็นว่ามันจืดไปท่านก็ให้เติมเกลือหรือน้ำปลา หรือหากมีพ่อครัวคนต่อไปอีกมาชิมอีกก็บอกว่ามันยังหวานไม่พอ ต้องใส่น้ำตาลลงไป พอถึงพ่อครัวคนที่สามมาถึงก็บอกว่ายังเปรี้ยวไม่พอ ก็ให้บีบน้ำมะนาวลงไป พอถึงคนที่สิบอาหารหม้อนั้นก็คงกินไม่ได้ โบราณบอกว่า "พ่อครัวหลายคนปรุงอาหารไม่อร่อย" ใช้พ่อครัวที่มีความเชี่ยวชาญด้านปรุงอาหารเพียงคนเดียวเท่านั้นอาหารก็อร่อยได้
เหมือนการบริหารประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีหลายคนก็บริหารไม่ได้ ใช้คนหลายก๊ก หลายเหล่า หลายพรรค หลายพวก ไม่เคารพกฎกติกา ไม่มีวัฒนธรรม ในที่สุดประเทศก็เดินไม่ได้ จนท่านจำเป็นต้องออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการแก้ปัญหาหาทางออกประเทศ การศึกษาก็ไม่ต่างกันเพราะที่ผ่านมามีแต่ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างโรงเรียน ไม่รู้ปัญหาจริง แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่ตอบโจทย์ คุณภาพจึงไม่เพิ่ม ใช้งบประมาณทุ่มลงไปเหมือนหมอชาวบ้านที่พยายามกรอกยารักษาโรคให้คนป่วย พยายามเพิ่มยาเข้าไปมากๆ เพื่อให้คนป่วยหายเร็ว ก็มีแต่จะทำให้คนป่วยอาการหนักมากขึ้นหรือตายเร็วขึ้น
การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ท่านมีอำนาจพิเศษ ท่านต้องใช้อำนาจพิเศษจัดการปฏิรูปการศึกษา ใช้คนที่มีความรู้มีความสามารถจริง ซึ่งในประเทศไทยก็ยังพอหาได้ โรงเรียนนานาชาติทั้งหลายโรงเรียนที่เขาประสบผลสำเร็จ หรือโรงเรียนดีๆ ของไทยเพื่อเป็นต้นแบบเขายังทำได้ ของบางอย่างเราอาจเรียนรู้จากคนอื่น ของบางอย่างอาจเลียนแบบหรือก๊อบปี้ เขาเพื่อจะได้พัฒนาตนเอง
หลักสูตรคือทั้งหมดที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนไม่ใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรเท่านั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ครูออกแบบหรือสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้เผชิญปัญหาเอง ได้แก้ปัญหาเองก็คือแก่นที่สำคัญของหลักสูตร หลักสูตรจึงเป็นเสมือนพิมพ์เขียวแบบรูปรายการ ครูคือช่างก่อสร้างที่จะต้องนำเอาแบบรูปรายการไปปฏิบัติหรือไปก่อสร้าง ถ้าพิมพ์เขียวดีแต่ช่างไม่มีฝีมือก็โทษช่าง หรือถ้าช่างมีฝีมือแต่ถ้าแบบไม่ดี มีวิศวกรรับรองก็ต้องโทษแบบ
การได้ฝึกภาคสนามทำให้ทหารแก่ง การได้ออกสู่สมรภูมิรบจริง สอนให้ทหารรู้จักเอาตัวรอด การได้เผชิญหน้าปัญหาวิกฤตทำให้ทหารต้องตัดสินใจ การเผชิญสถานการณ์จริงจะสร้างเด็กให้รู้จักคิด การได้ลงมือปฏิบัติจริงฝึกให้เขาได้ตัดสินใจ การจัดการเรียนการสอนในบางประเทศเขาเรียนทฤษฎีในภาคเช้า ภาคบ่ายเขาให้ลงมือฝึกปฏิบัติ ลดคาบการเรียนในห้องลง เพิ่มการได้ปฏิบัติจริงที่บ้านกับอาชีพของบรรพบุรุษ ช่วยงานพ่อแม่ หรือเข้าฝึกสถานปฏิบัติการใกล้บ้าน
สมัยผู้เขียนเป็นเด็กโรงเรียนปิดเทอมให้เด็กไปดำนา ปิดเทอมให้เด็กไปเกี่ยวข้าวช่วยพ่อแม่ ทำให้เด็กไม่ลืมกำพืดของตนเอง มีความผูกพันกับท้องถิ่นสูง
|