การสอนแบบเอกัตภาพ ( Individualized Instruction )
การเรียนการสอนแบบนี้ในระดับโรงเรียนเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ในประเทศไทยเริ่มการสอนภาษาอังกฤษแบบนี้ในระดับมัธยมต้น ในปีการศึกษา 2523
การสอนแบบเอกัตภาพนี้ยึดหลักการสอนแบบบุคคล นั่นคือ เชื่อในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ถือว่าคนทุกคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ใครที่เรียนดี เรียนได้เร็วควรจะไปรุดหน้ากว่าคนที่อ่อนและช้า บทเรียนที่จัดขึ้นมีทั้งบทเรียนธรรมดาและบทเรียนสำเร็จรูป ( programmed lessons )
การสอนแบบนี้ เป็นพัฒนาการของการจัดการศึกษาตามแนวทางใหม่ เป็นการปฏิรูประบบการเรียน การสอน และการจัดห้องเรียนจากแบบเดิมที่มีครูเป็นผู้นำแต่ผู้เดียวมาเป็นระบบที่ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในชั้นเรียนหนึ่ง ๆ โดยการแบ่งออกเป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุม oral , reading และ writing แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ สัก 3 – 5 กลุ่มอาจจะใช้ครูผู้สอน 2 หรือ 3 คนช่วยกันสอนเป็น team teachering
วิธีการเรียนการสอนแบบเอกัตภาพนี้ใช้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา 2523 โดยใช้ชื่อเรียกสื่อการเรียนการสอนชุดนี้ว่า “ ชุดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ( Learning Kit ) ”
วิธีการสอนแบบเอกัตภาพ
1. ครูสอนสิ่งที่นักเรียนจะต้องเรียนพร้อมกันทีเดียวทั้งห้องหรือครึ่งห้อง เป็นต้นว่าการออกเสียง ไวยากรณ์ หรือคำศัพท์ สัก 10 – 15 นาที
2. แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยสัก 3 – 5 กลุ่ม มีหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยแต่ละกลุ่มทำงานตามที่ครูมอบหมายให้ทำด้วยตนเอง ถ้ามีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือจะเข้ามาปรึกษาครูได้เป็นราย ๆ ไป ในครั้งหนึ่ง ๆ นักเรียนอาจจะเลือกทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ตามความสนใจของตน แต่ครูจะต้องเป็นผู้รับรู้ด้วย
3. การเรียนอ่านและเขียนนั้นเป็นการเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือ อธิบายอย่างคร่าว ๆ นักเรียนคนใดเรียนได้เร็ว ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อย ครูจะให้ช่วยเหลือหรือแนะนำหรือดูแลการทำแบบฝึกหัดของนักเรียนที่อ่อน
4. แต่ละครั้งนักเรียนเอางานที่สำเร็จแล้วมาให้ครูดู แล้วไปเขียนในสมุดหรือกระดาษรายงานส่วนตัวที่เรียกว่า progress chart เพื่อเป็นหลักฐานว่าในครั้งนั้น ๆ ตนได้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง
ข้อเสีย
1. ถ้ามีนักเรียนหลายคนในห้องเรียน จะต้องอาศัยครูหลายคนจึงจะดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง
2. จะต้องอบรมให้นักเรียนมีระเบียบวินัย ซื่อตรงต่อตนเอง สามารถบังคับใจให้ทำงานได้เองโดยไม่มีใครบังคับ
3. บทเรียนที่ใช้มักจะมีราคาแพง เพราะต้องบรรจุกิจกรรมมากอย่างเพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน
4. ครูจะต้องมีความสนใจต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง จึงจะช่วยให้การเรียนเป็นผลสำเร็จ
5. ในห้องเรียนที่นักเรียนมีความสามารถต่างกันมาก ทำให้ยากต่อการเตรียมการสอนในส่วนของบทเรียนที่จะต้องเรียนร่วมกัน เพราะนักเรียนเก่งจะเรียนรู้เกินหน้านักเรียนที่อ่อนไปมากแล้ว แต่จะต้องมาเรียนบทเรียนย้อนหลัง ดังนั้นครูจึงต้องเตรียมบทเรียนเป็นหลายระดับ และสอนแต่ละกลุ่มด้วยเนื้อหาที่ต่างกันออกไป ทำให้ครูทำงานหนักมาก
ข้อดี
1. สามารถจะแก้ปัญหานักเรียนที่มีพื้นฐานความรู้ต่างกันได้
2. นักเรียนได้รับการฝึกภาษาอย่างทั่วถึงกัน เพราะแต่ละกลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก
3. นักเรียนอ่อนไม่รู้สึกมีปมด้อยในการเรียน เพราะได้เรียนตามความสามารถของตนเป็นการแข่งขันกับตนเองมากกว่าแข่งกับคนอื่น
4. นักเรียนที่เรียนเก่งไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการที่จะต้องรอนักเรียนที่เรียนช้า มีโอกาสที่จะเลือกกิจกรรมได้มากอย่างตามความสนใจของแต่ละคน
5. ฝึกให้นักเรียนรู้จักการให้และการรับ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนร่วมชั้น เป็นการฝึกนิสัยในการที่จะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
|