ความคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
( Maslow’s Basic Assumptions Concerning Human Nature)
จิตวิทยามานุษยนิยมแตกต่างอย่างมากกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และทฤษฎีพฤติกรรมนิยมในเรื่องความคิดเห็นเบื้องต้นของธรรมชาติมนุษย์ และถ้าจะวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาแล้ว จะเห็นได้ว่าจิตวิทยามานุษยนิยมสร้างขึ้นมาเพื่อคัดค้านอย่างรุนแรงกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์และทฤษฎีพฤติกรรมนิยมในความคิดเห็นเกี่ยวมนุษย์ ความแตกต่างอย่างยิ่งก็คือเรื่อง “แรง” (force) เพราะทฤษฎีมานุษยนิยมจะแตกต่างอย่างเด่นชัดกับทฤษฎีของ Freud และ Skinner
ธรรมชาติของมนุษย์ตามทฤษฎีของ Maslow มี 7 ประการดังนี้ 1. ความเป็นอิสระ – การถูกกำหนดมาแล้ว ( Freedom – Determine ) 2. ความเป็นเหตุผล – ความไม่มีเหตุผล ( Rationality – Irrationality ) 3. การรวมเข้าเป็นส่วนรวม – ประกอบด้วยส่วนย่อย ( Holism – Elementalism ) 4. สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด – สิ่งแวดล้อม ( Constitutionalism – Environmentalism ) 5. ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง–ความไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ( Changeability – Unchangeability ) 6. ความรู้สึกส่วนตัว – ความรู้สึกเป็นกลาง ( Subjectivity – Objectivity ) 7. การกระทำ – การตอบสนอง ( Proactivity – Reactivity )
ดังจะอธิบายโดยละเอียดเป็นข้อๆ คือ
1. ความเป็นอิสระ – การถูกกำหนดมาแล้ว ( Freedom – Determine ) กลุ่มอัตถิภาวะนิยม Eexistentialists ยังไม่แน่ใจในการยอมรับความคิดเกี่ยวกับความเป็นอิสระของมนุษย์ แต่แนวคิดจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยมเชื่อว่า มนุษย์สามารถที่จะเลือกวิถีทางของตน และ มนุษย์มีรากฐานของความเป็นอิสระและรับผิดชอบพฤติกรรมของเขาเอง ซึ่งความเป็นอิสระนี้ จะปรากฎชัดเจนในสิ่งที่บุคคลเลือกกระทำพฤติกรรมนั้นๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในความต้องการของตน เช่น บุคคลจะเลือกสิ่งใดหรือเลือกอย่างไรที่จะทำให้เขาเกิดความพึงพอใจ และสิ่งสำคัญก็คือบุคคลมีอิสระในการแสวงหาเพื่อมุ่งไปสู่การเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง และการที่บุคคลจะเลือกอะไรนั้นคือศักยภาพของตัวเขา และเขาจะพัฒนาศักยภาพนั้นได้อย่างไรก็ตัวเขาเองนั่นแหละที่เป็นตัวกำหนด ในทฤษฎีของ Maslow เชื่อว่าบุคคลที่อายุมากจะไปถึงขั้นของความต้องการก่อนผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าและเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความมีอิสระก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น ในช่วงวัยทารกบุคคลจะยังไม่มีอิสระอย่างแท้จริงเพราะในวัยนี้บุคคลยังถูกควบคุมด้วยความต้องการต่างๆ จากสภาพร่างกาย บุคคลยังไม่สามารถเลือกที่จะรับประทานอาหารเอง เลือกที่จะนอนหลับหรือการขับถ่าย แต่อย่างไรก็ตามศักยภาพของบุคคลได้มีอยู่โดยธรรมชาติ ในขณะที่บุคคลมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นบุคคลก็จะเคลื่อนไปสู่ความต้องการตามลำดับขึ้น และมีความเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยบุคคลจะมีอิสระที่จะสร้างสรรค์ตนเองและสร้างตนเองให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนเองต้องการ ตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไปตามลำดับความต้องการของแต่ละบุคคลก็มีศักยภาพที่จะนำตัวเองไปตามวิถีทางของตน นั่นก็คือความมีอิสระที่จะชี้นำตนเองนั่นเอง
2. ความเป็นเหตุผล – ความไม่มีเหตุผล (Rationality – Irrationality) การพิจารณาว่ามนุษยมีเหตุผลหรือไม่ตามความคิดของ Maslow นั้น สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนก็คือความคิดของ Maslow ที่มีต่อการวิจัยสัตว์ Maslow กล่าวว่าการวิจัยสัตว์ไม่มีเหตุผลพอเพียงที่จะนำมาอ้างอิงกับจิตวิทยามนุษย์ เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิเสธเรื่องนี้คือสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตขั้นต่ำซึ่งไม่สามารถจำประสบการณ์ในอดีตได้ สัตว์คิดได้เฉพาะเรื่องที่เป็นสิ่งแวดล้อมปัจจุบันและสำหรับเรื่องอนาคตแล้วสัตว์ไม่สามารถที่จะคิดได้เลย ดังนั้นทฤษฎีของ Maslow จึงยึดถือความมีเหตุผลของมนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งถือว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ที่รู้จักเหตุผล มีสติ และรู้สำนึกในพฤติกรรมของตน
อย่างไรก็ตาม Maslow ยอมรับว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงถึงความไม่มีเหตุผลของมนุษย์ เช่น ขณะที่บุคคลมีความคิดขัดแย้งระหว่างความต้องการ หรืออยู่ในภาวะที่ถูกบังคับ เป็นต้น ในสภาพการณ์เช่นนี้พฤติกรรมของบุคคลจะไม่คงเส้นคงวาและบางครั้งจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการของจิตไร้สำนึก (unconscious) Maslow เชื่อว่า การกระทำหรือพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ถูกควบคุมโดยพลังที่มีเหตุมีผลและรู้สำนึก Maslow พิจารณาว่าบุคคลจะรู้สึกหรือสำนึกในตนเองและความรู้สึกหรือรู้สำนึกดังกล่าวนี้จะแสดงออกโดยประสบการณ์ทางความคิดของเขาซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่เที่ยงตรงสำหรับการศึกษามนุษย์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการของความไม่มีเหตุผลหรือความไม่รู้ตัวนั้นไม่ได้ควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ Maslow ได้เสนอภาพของมนุษย์ใหม่ว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้มีเหตุผล มีความรู้สึกตัว มีการรับรู้ในตนเอง ซึ่งสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจและค้นหาศักยภาพของตนเอง
3. การรวมเข้าเป็นส่วนรวม – ประกอบด้วยส่วนย่อย (Holism – Elementalism) Maslow กล่าวว่ามนุษย์นั้นรวมเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งร่างกาย และจิตใจหรือมนุษย์จะบูรณาการเข้าเป็นส่วนรวม Maslow ได้ยกตัวอย่างที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบุคคลดังนี้ ถ้า John Smith หิว “นั่นก็คือ John Smith ต้องการอาหาร ไม่ใช่ท้องของ John Smith ที่ต้องการอาหาร” (Maslow 1980 p. 19 - 20) ในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน คือ John Smith ต้องการความปลอดภัย John Smith ต้องการได้รับความนับถือยกย่อง และ John Smith ต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า Maslow รวมทุกๆ ด้านของบุคลิกภาพเข้ามาเป็นส่วนรวม และการศึกษาบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมดเท่านั้นจึงจะมีความเที่ยงตรงต้องการให้ข้อมูลทางจิตวิทยา บุคคลไม่ได้แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ดังนั้นการเลือกศึกษาเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของบุคคลย่อมก่อให้เกิดความผิดพลาดได้
4. สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด – สิ่งแวดล้อม (Constitutionalism – Environmentalism) กลุ่มอิตถิภาวนิยม (existentialist) เน้นถึงความเป็นอิสระที่บุคคลแสดงออก ทฤษฎีของ Maslow ก็ยอมรับในธรรมชาตินี้ของมนุษย์แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ถ้าบุคคลมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะปรุงแต่งตัวเอง และสร้างสรรค์แนวโน้มการกำหนดตัวเองได้ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไม่ว่าสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือสิ่งแวดล้อมก็จะไม่มีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นถึงแม้ว่า Maslow จะยอมรับในความเป็นอิสระของมนุษย์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เขาก็ยังคำนึงถึงอิทธิพลของสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและสิ่งแวดล้อมว่าได้เข้ามามีบทบาทในการปรุงแต่งพฤติกรรมมนุษย์ระหว่างสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกับสิ่งแวดล้อม Maslow มีความโน้มเอียงที่จะให้สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดมีความสำคัญกว่าเล็กน้อย เช่น ความต้องการทางด้านร่างกาย เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และความต้องการทางร่างกายเป็นพื้นฐานของลำดับขั้นความต้องการของแรงจูงใจของมนุษย์ และที่สำคัญกว่านี้คือ Maslow ถือว่าแรงจูงใจระดับสูง (B motive) และความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (self-actualization) เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดย Maslow อาจใช้ชื่อต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น “พลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิด” (inborn urge) “สัญชาตญาณ” (instinct) และ “สันดานมนุษย์” (inherent in human) และ Maslow ยังพิจารณาลึกซึ่งไปกว่านี้ว่าแรงขับที่มุ่งไปสู่การเข้าใจศักยภาพของตนเป็นสันดานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษยได้เรียนรู้ หรือเป็นแรงขับที่ติดตัวมาแต่กำเนิดนั่นเอง
ในความสำคัญของสิ่งแวดล้อม Maslow ยอมรับว่าอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมจะมีต่อบุคคลในระยะเริ่มแรกของชีวิตและมีผลต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพ แต่ดูเหมือนว่า Maslow จะให้ความสำคัญดังกล่าวนี้ในด้านที่ทำให้เกิดความเสียหายในด้านที่ทำลายพลังซึ่งทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางอารมณ์ในระยะต่อมามากกว่าจะให้ความสำคัญในด้านการสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าระหว่างสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดกับสิ่งแวดล้อม Maslow ให้ความสำคัญของสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมบ้างแต่ก็ไม่สำคัญมากนักทั้งนี้ เพราะว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญก็คือเรื่องของความมีอิสระ ( freedom )
5. ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง– ความไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง (Changeability – Unchangeability) การจะเข้าใจความคิดของ Maslow ในเรื่องที่ว่าบุคคลมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถที่จะเปลี่ยแปลงหรือไม่ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความมีอิสระและแรงจูงใจระดับสูงในแนวคิดของทฤษฎีมานุษยนิยมตามที่กล่าวมาแล้วเสียก่อน Maslow เชื่อว่าบุคคลมีอิสระอย่างใหญ่หลวงที่จะกำหนดจุดมุ่งหมายของตนเอง ส่วนแรงจูงใจระดับสูงซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางในทฤษฎีนี้เชื่อว่าบุคคลแสวงหาวิถีทางเพื่อความก้าวหน้าของตนตลอดเวลาและเพื่อการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงอันเป็นจุดยอดของปิรามิดลำดับขั้นของควมต้องการ ความเป็นอิสระและแรงจูงใจระดับสูงจะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันและปรากฎในบุคลิกภาพ คือขณะที่บุคคลมีความต้องการต่อเนื่องไปตามลำดับขั้นของความต้องการเขาก็มีอิสระที่จะคิดและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ความต้องการในแต่ละขั้นของเขาได้รับการตอบสนอง บุคคลจึงมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิถีทางของการมีชีวิตของตนเอง
6. ความรู้สึกส่วนตัว – ความรู้สึกเป็นกลาง (Subjectivity – Objectivity) Maslow มีความเชื่อในเรื่องความรู้สึกส่วนตัวว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เขาเห็นว่าประสบการณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวของบุคคลเป็นข้อมูลที่สำคัญทางจิตศาสตร์ (Psychological science) เขากล่าวว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจมนุษย์ได้ ถ้าปราศจากการอ้างอิงถึงโลกส่วนตัวของเขา (private world) สำหรับจิตศาสตร์แล้วประสบการณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวมีความสำคัญมากกว่าพฤติกรรมที่ได้จากการสังเกต ในขณะที่ Maslow ได้แสดงลำดับขั้นของความต้องการว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ เขาก็ยอมรับว่าความต้องการเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะในแต่ละคนจะแสดงออกในวิถีทางที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ตัวอย่าง เช่น Ann และ Betty ทั้ง 2 คนต่างก็มีความต้องการที่จะได้รับการยกย่อง แต่ทั้ง 2 คนนี้ต่างก็มีประสบการณ์ส่วนตัวและพยายามที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจในความต้องการนี้แตกต่างกัน เช่น Ann อาจจะแสดงตัวว่าเป็นแม่ที่ดีของลูกเพื่อให้คนอื่นยอมรับเธอในด้านของความเป็นแม่ แต่ Betty อาจจะได้รับความพึงพอใจที่จะได้รับการยกย่องจากการประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการจะเข้าใจบุคลิกภาพของบุคคลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของเขาซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรม
7. การกระทำ – การตอบสนอง (Proactivity – Reactivity) นักจิตวิทยาในกลุ่ม Maslowian ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์จะเป็นผู้กระทำ (act) มากกว่าที่จะเป็นฝ่ายโต้ตอบ (react) ตัวอย่าง เช่น การที่บุคคลพยายามจะสนองความพึงพอใจในความต้องการต่างๆ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาเอง หรือความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงก็ไม่ได้เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกอย่างหนึ่งอย่างใดมากระตุ้น มนุษย์จึงมีธรรมชาติที่จะแสดงพฤติกรรมมากกว่าจะเป็นฝ่ายโต้ตอบ
|