หลักเบื้องต้นของจิตวิทยามานุษยนิยม
(BasicTenets of Humanistic Psychology )
คำว่า “จิตวิทยามานุษยนิยม” (Humanistic psychology) ตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักจิตวิทยาเมื่อประมาณต้นๆ ปี 1960 โดยมี Maslow เป็นหัวหน้ากลุ่มในสมัยนั้น ทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อวงการจิตวิทยาคือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (psychoanalysis and behaviorism) แต่ Maslow ได้ตั้งทฤษฎีที่มีตัวแปรแตกต่างออกไปจากกลุ่มทฤษฎีทั้ง 2 และเป็นทฤษฎีที่ไม่เหมือนกับทฤษฎีอื่นๆ จิตวิทยามานุษยนิยมไม่ได้มีระบบหรือการรวบบรวมเฉพาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่มันแสดงคุณลักษณะของความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการเข้ามารวมกันของความคิดหลายๆ อย่าง Maslow เรียกว่า “พลังที่ 3 ของจิตวิทยา” (third force psychology) ถึงแม้ว่า การเคลื่อนไหวนี้จะแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวางแต่ทั้งหมดแสดงถึงความคิดพื้นฐานของธรรมชาติมนุษย์ และความคิดพื้นฐานในทฤษฎีนี้มีรากฐานมาจากปรัชญาตะวันตก กลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยมเน้นอย่างมากในปรัชญาเรื่องอัตถิภาวนิยม (Existential) ซึ่งเป็นปรัชญาที่กล่าวว่า บุคคลมีความรับผิดชอบในตนเอง อิทธิพลจากปรัชญานี้มีต่อแนวความคิดทางจิตวิทยาได้พัฒนาขึ้นโดยนักคิดและนักเขียนหลายคน เช่น Kierkegaarad, Startre, Camus, Binswanger, Boss และ Frankl ส่วนนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เช่น Rollo May ก็ได้รับอิทธิพลจากปรัชญานี้เช่นกัน
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existential) กล่าวถึง มนุษย์ในแง่ของความเป็นเอกัตบุคคลและปัญหาเกี่ยวกับความคงอยู่ของแต่ละบุคคล มนุษย์เป็นผู้ที่มีความสำนึกในตนเองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบคือ ความตาย ปรัชญาของลัทธินี้ไม่ยอมรับว่าบุคคลเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชีวิตในตอนต้นๆ และเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง ไม่มีสาเหตุหรือเหตุผลใดที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมมนุษย์ ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง และมีอิสรภาพที่จะเลือกในสิ่งที่ตนสนใจหรือต้องการ กล่าวได้ว่า “ชีวิตเป็นไปตามที่ตนสร้างขึ้น” มนุษย์เป็นผู้กำหนดว่าสิ่งใดที่เขาจะกระทำหรือสิ่งใดที่เขาจะไม่กระทำ มนุษย์มีอิสระที่จะเป็นในสิ่งที่เขาต้องการ การมีอิสระในการเลือกไม่ได้เป็นสิ่งที่ประกันว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นจะดีสำหรับเขา เพราะถ้าเช่นนั้นบุคคลก็จะไม่พบกับความผิดหวังหรือมีความวิตกกังวล หรือมีความเบื่อหน่าย หรือความรู้สึกผิดเกิดขึ้น
แนวคิดที่สำคัญของกลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยม ส่วนมากนำมาใช้จากปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ( Existential ) คือ มนุษย์เป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง มนุษย์จะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น เมื่อ 4 ปีก่อน เป็นเด็กวัยรุ่นที่ร่าเริงสนุกสนาน แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้จรรโลงสังคม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมในเวลาต่อมาทั้งนี้เนื่องมาจากมนุษย์สามารถตระหนักในความรับผิดชอบและพยายามค้นหาศักยภาพแห่งตน เพื่อกระทำในสิ่งที่ตนเองสามารถจะกระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงสามารถเผชิญกับความจริงของชีวิตได้ ในทัศนะของกลุ่มอัตถิภาวนิยมและกลุ่มจิตวิทยามานุษยนิยมมีความสอดคล้องกันว่า มนุษย์เป็นผู้ค้นหาความเป็นจริงของชีวิตนอกเหนือไปจากความต้องการในการตอบสนองทางชีวภาพหรือการตอบสนองทางเพศและสัญชาตญาณของความก้าวร้าวแล้ว และถ้าบุคคลใดปฏิเสธการเจริญเติบโต หรือไม่ต้องการความเจริญก้าวหน้าแสดงว่าบุคคลนั้นไม่ยอมรับตนเองไม่ยอมรับในความสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้กับชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มมานุษยนิยมได้กล่าวว่า เป็นเรื่องเศร้าที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ต้องบิดเบือนไปและเป็นสาเหตุให้ Maslow เริ่มสนใจกระบวนการของความเจริญเติบโตหรือการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงในธรรมชาติที่เกี่ยวกับมนุษย์
แนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ( existential ) ได้เน้นมนุษย์ในเรื่องความรู้สึกและอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดได้ยากรวม ทั้งเน้นประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์จึงมุ่งอธิบายพฤติกรรมที่เกิดภายในจิต ซึ่งเขาถือว่าเป็นประสบการณ์ภายในหรือประสบการณ์ส่วนตัว ทฤษฎีบุคลิกภาพ Maslow มีแนวคิดสำคัญๆ 5 เรื่อง ดังนี้
1. เอกัตบุคคลเป็นบูรณาการโดยส่วนรวมทั้งหมด (The Individual as an Integrated whole) พื้นฐานสำคัญที่สุดของทฤษฎีจิตวิทยามานุษยนิยมคือ นักจิตวิทยาจะต้องศึกษาสิ่งที่ทำให้เกิดบูรณาการ ความเป็นเอกลักษณ์และการจัดระบบร่วมกันทั้งหมด Maslow รู้สึกว่านักจิตวิทยาได้เสียเวลาเน้นการวิเคราะห์ส่วนย่อยที่แตกแยกออกมา โดยไม่คิดถึงบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมดและขาดการระลึกถึงธรรมชาติของมนุษย์ อุปมาเสมือนการศึกษาต้นไม้โดยไม่มีความรู้เรื่องป่าเลย ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีของ Maslow จึงเป็นทฤษฎีเริ่มแรกที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยต่อต้านทฤษฎีเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพฤติกรรมนิยม ( Behaviorism ) เพราะทฤษฎีพฤติกรรมนิยมได้เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย หรือเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมและละเลยบุคคลในฐานะที่เป็นเอกภาพรวม Maslow ได้กล่าวถึงทฤษฎีบุคลิกภาพที่ดีไว้ว่าควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
“ทฤษฎีที่ดีนั้นต้องไม่กล่าวถึงความต้องการของมนุษย์เฉพาะในเรื่องท้อง ปาก หรือความต้องการทางเพศ แต่จะต้องกล่าวถึงความต้องการทั้งหมดของตัวบุคคล เช่น John Smith ต้องการอาหารซึ่งมิใช่แต่เพียงเพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เขาต้องการความพึงพอใจด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดความหิว John Smith จึงมิได้ท้องหิวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหิวที่เกิดจากส่วนรวมของตัวเขาทั้งหมด”
ดังนั้นสำหรับทฤษฎีบุคลิกภาพของ Maslow สนใจเรื่องศูนย์กลางคุณลักษณะของบุคลิกภาพจะต้องมีลักษณะเป็นเอกภาพและรวมเข้ามาด้วยกันทั้งหมด มองบุคคลโดยส่วนรวมทั้งหมดและทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของมนุษย์แต่ละคน
2.ไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างผลการวิจัยพฤติกรรมของสัตว์กับพฤติกรรมมนุษย์ (Irrelevance of Animal Research) สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนความคิดของนักจิตวิทยามานุษยนิยมที่ว่า พฤติกรรมของมนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ก็คือ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีมากกว่าสัตว์ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์ชนิดพิเศษก็ตามซึ่งความคิดนี้ค้านกันอย่างแรงกับกลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งให้ความสำคัญของมนุษย์ดำเนินไปอย่างเดียวกับโลกของสัตว์ Maslow ได้ให้ความเห็นว่ามนุษย์มีความเป็นเอกภาพและแตกต่างจากสัตว์ เขากล่าวว่ากลุ่มพฤติกรรมนิยมมีปรัชญาว่า “มนุษย์เป็นเอกัตบุคคลมีชีวิตอยู่เสมือนเครื่องจักรซึ่งประกอบไปด้วยพันธนาการที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขหรือความไม่มีเงื่อนไข”
แนวคิดของ Maslow เชื่อว่าแท้จริงแล้วการวิจัยพฤติกรรมจากสัตว์ไม่มีความสัมพันธ์กับความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เนื่องจากสัตว์และการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่อไปนี้ ความคิดของมนุษย์ ค่านิยมของมนุษย์ ความอายของมนุษย์ อารมณ์ขันของมนุษย์ ความกล้าหาญของมนุษย์ ความรักของมนุษย์รวมไปถึง งานศิลปะ ความรู้สึกอิจฉา ริษยา และที่สำคัญคือสัตว์ไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานในด้านการประพันธ์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ และงานอื่นๆ อันเป็นผลมาจากสมองและจิตใจของมนุษย์ได้เลย และไม่พบเลยว่ามีตำราเล่มใดที่กล่าวขวัญหรือยกย่องในความสามารถของหนู นกพิราบ ลิง และแม้แต่ปลาโลมาว่ามันฉลาดเทียบเคียงมนุษย์ฉะนั้นจะเอาพฤติกรรมสัตว์มาสรุปเป็นพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้
3. ธรรมชาติภายในของมนุษย์ ( Man’s Inner Nature ) ทฤษฎีของ Freud เชื่อว่ามนุษย์นั้นมีความชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน แรงกระตุ้นของมนุษย์ถ้าไม่มีการควบคุมก็จะนำไปสู่การทำลายผู้อื่นและทำลายตนเองได้ ทัศนะนี้จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม Freud มองว่า ”คนมีความดีบ้างเล็กน้อย” อย่างไรก็ดีแนวคิดของทฤษฎีมานุษยนิยมเชื่อว่า แท้จริงแล้ว “มนุษย์เป็นคนดีหรืออย่างน้อยก็มีทั้งดีและเลวพอ ๆ กัน” ทั้งทฤษฎีกลุ่มจิตวิเคราะห์และทฤษฎีมานุษยนิยมต่างมีเจตคติแตกต่างกัน กลุ่มมานุษยนิยมจะมองว่า “ความชั่วร้าย การทำลาย และแรงที่ผลักดันรุนแรงในตัวมนุษย์จะเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ชั่วร้ายมากกว่าจะเกิดจากสันดานของมนุษย์เอง"
4. ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ( Human Creative Potential ) การสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นความคิดสำคัญของจิตวิทยามานุษยนิยม โดย Maslow กล่าวยกย่องว่าบุคคลที่เขาศึกษาหรือสังเกตนั้นส่วนใหญ่มีบุคลิกภาพประการแรกคือ เป็นผู้มีลักษณะการสร้างสรรค์ หมายถึง การสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะทั่วไปของธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นศักยภาพที่แสดงออกนับตั้งแต่เกิดมา และการสร้างสรรค์ถือว่าเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ เหมือนกับที่ต้นไม้ผลิใบ หรือนกสามารถบิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี Maslow ให้ความเห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่จะสูญเสียการสร้างสรรค์ไปเมื่อเขาเจริญเติบโตเพราะการเข้าสู่กรอบของสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียนมักจะทำให้การสร้างสรรค์ลบเลือนไปแต่ก็มีคนเป็นจำนวนน้อยที่ยังรักษาไว้ได้ การสร้างสรรค์ที่สูญเสียไปนี้สามารถเรียกกลับคืนมาได้ในระยะต่อมาของชีวิต Maslow กล่าวว่าการสร้างสรรค์เป็นศักยภาพของแต่ละบุคคลไม่ใช่เป็นความสามารถพิเศษเพราะ ความสามารถพิเศษมีเฉพาะบางคนเท่านั้นซึ่งแสดงออกเป็นผลงานที่มีคนเป็นจำนวนน้อยสามารถทำได้ เช่น ความสามารถพิเศษในการเป็นนักประพันธ์ ความสามารถพิเศษในการเป็นศิลปิน เป็นต้น ส่วนความสามารถสร้างสรรค์เป็นความสามารถทั้งหมดของมนุษย์ที่แสดงออกมาได้ในอาชีพต่างๆ เช่น ช่างสร้างบ้าน จ๊อกกี้ ช่างทำรองเท้า นักเต้นรำ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
5. การให้ความสำคัญของจิตใจที่สมบูรณ์(Emphasis on Psychological Health ) Maslow กล่าวว่าการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ของนักจิตวิทยาที่ผ่านๆ มานั้นไม่มีวิธีการทางจิตวิทยาวิธีใดที่จะศึกษาพฤติกรรมต่อไปนี้ได้ถูกต้อง การทำหน้าที่ของการมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ของมนุษย์ รูปแบบของชีวิต เป้าหมายของชีวิต โดยเฉพาะเขาวิจารณ์ทฤษฎีของ Freud ว่าเป็นทฤษฎีที่หมกมุ่นในการศึกษาโรคประสาทและโรคจิตมากเกินไปและทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นการมองคนในด้านเดียวและขาดความเข้าใจที่แท้จริงคือ มองมนุษย์เฉพาะด้านความผิดปกติหรือความเจ็บป่วยของพฤติกรรมเท่านั้น ( มนุษย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติในด้านที่ไม่พึงปรารถนาเพียงด้านเดียวมนุษย์มีทั้งที่ผิดปกติและปกติ ถ้าสนใจมนุษย์ด้านผิดปกติเราก็จะพบ ความล้มเหลว และความไม่ดีต่างๆ ในตัวมนุษย์
เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนี้ Maslow และผู้ร่วมงานในกลุ่มมานุษยนิยม ของเขาจึงหันมาสนใจ”ธรรมชาติทางจิตที่ดีงามของมนุษย์” และการเข้าใจสภาพจิตดังกล่าว โดยจะศึกษากับคนปกติมากกว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตใจMaslowเชื่อว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจความเจ็บป่วยทางจิตใจได้จนกว่าเราจะเข้าใจสภาพจิตใจที่มีความสมบูรณ์Maslow ยอมรับว่าการศึกษาคนพิการ บุคคลที่มีปัญหาทางจิต ผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะ (immature) และผู้ที่สติปัญญาอ่อน เป็นตัวอย่างการศึกษาผู้มีความบกพร่องทางจิตได้ เขามีความเชื่อมั่นว่า การศึกษาในเรื่องความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self-actualizing ) จะเป็นการศึกษาบุคคลที่มีรากฐานกว้างขวางในศาสตร์ของจิตวิทยา กล่าวโดยสรุปจิตวิทยาในกลุ่มมานุษยนิยมพิจารณาว่า “การกระทำตนให้สมบูรณ์” (Self-fulfillment) เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตมนุษย์ และหลักการดังกล่าวนี้จะไม่สามารถพบจากการศึกษาบุคคลที่ผิดปกติได้เลย
|