วิถีชีวิตชาวภูฏาน จารีตประเพณีความเชื่อ ศิลปะวัฒนธรรมของภูฏาน
• กุสุซัมโปดรุกยุล กุสุซัมโป แปลว่า สวัสดี ดรุกยุล คือ ภูฏาน กุสุซัมโปดรุกยุล “สวัสดีภูฏาน”.. • ด้วยเหตุที่ชาวภูฏานต่างมีวิถีชีวิตที่ยึดมั่นในพุทธตันตระ-วัชรยาน วิถีชีวิตประจำวันของชาวภูฏานจึงมีศาสนานำทาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ชาวภูฏานยังไม่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้า และส่วนมากยังมีฐานะยากจน กระแสบริโภคนิยมจึงยังคืบคลานไปไม่ถึง โดยเฉพาะในชนบท แทบทุกคนทั้งชาย-หญิงในภูฏานล้วนมีสันติสุขและรักสันโดษ มีความสุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน มีจิตใจโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตรต่อผู้คนที่มาเยือนภูฏาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งของภูฏาน • การกราบไหว้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวของชาวภูฏาน • การไหว้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัวของชาวภูฏานเป็นเอกลัษณ์ที่เด่นชัดของชาวภูฏาน ซึ่งการกราบไหว้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวภูฏานมาเนิ่นนานแล้ว เพราะว่าประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ว่านิกายใด มักจะมีวัฒนธรรมการกราบไหว้ติดมาเป็นมรดกจากอินเดีย หากแต่การกราบไหว้ในแต่ละประเทศอาจจะมีลักษณะท่าทีที่แตกต่างกันออกไป • การไหว้ผู้ใหญ่ของชาวภูฏานจะมีลักษณะนอบน้อมถ่อมตนจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติไม่แพ้การไหว้ของไทย แต่การไหว้พระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับทิเบต คือ การไหว้ในแบบน้อมกายแตะพื้นถึงครึ่งตัว หรือแตะพื้น 7 จุด คือ เท้า เข่า มือ และหน้าผาก • โชร์เต็นและมณฑล • โชร์เต็น (สถูปเจดีย์) ในเขตหิมาลัยนับถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธ โชร์เต็นจึงมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ชาวภูฏานจะทำทักษิณาวรรต (การเดินเวียนขวา) รอบโชร์เต็นเพื่อแสดงออกซึ่งศรัทธาปสาทะ และเพื่อสร้างสมบุญกุศกลให้กับตนเอง • ตำนานทางพุทธศาสนาระบุว่า การสร้างสถูปเจดีย์มีขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดียและสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งกษัตริย์จากแว่นแคว้นต่างๆ ได้รับแบ่งสรรปันส่วนไปหลังงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นลง สถูปเจดีย์จึงได้กลายมาเป็นสถานที่แห่งการสักการะบูชานับจากนั้นเป็นต้นมา • จนทุกวันนี้การสร้างโชร์เต็นในเขตหิมาลัยก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป จุดประสงค์ในการสร้างนั้นบ้างสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระอริยบุคคลท่านสำคัญ สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย หรือไม่ก็สร้างขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณภูติผีปิศาจไม่ให้ออกมารังควานชาวบ้าน • โชร์เต็นในภูฏานมีองค์ประกอบทั้งหมด 5 ส่วน เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้งห้า ได้แก่ ฐานแทนธาตุดิน องค์ระฆังแทนธาตุน้ำ ฉัตร 13 ชั้นแทนธาตุไฟ พระอาทิตย์กับพระจันทร์แทนธาตุลม (ชาวภูฏานเชื่อกันว่า เป็นธาตุที่ห่อหุ้มจักรวาลเบื้อบนเอาไว้) นอกจากนี้ ฉัตรทั้ง 13 ชั้น ยังหมายถึงขั้นตอนสำคัญทั้ง 13 ขั้นที่มนุษย์เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน • โชร์เต็นส่วนใหญ่เป็นลักษณะปิดทึบ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็มีบ้างบางองค์ที่สร้างเป็นซุ้มประตูหรือวิหารอยู่ข้างใน (เช่นโชร์เต็นที่วัดดุงเซในพาโร และโชร์เต็นอนุสรณ์ในทิมพู) ในภูฏานมีโชร์เต็นอยู่สามแบบคือ แบบเนปาล แบบทิเบต และแบบภูฏาน • การสร้างโชร์เต็นมีพิธีกรรมและพิธีการต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย แต่พิธีที่สำคัญที่สุดคือพิธีการบรรจุ "ต้นไม้แห่งชีวิต" (แกนไม้จารึกบทสวดมนต์) พระพุทธรูป คัมภีร์และสมบัติทางศาสนาเอาไว้ภายในพระเจดีย์ ก่อนจัดพิธีสมโภชพระเจดีย์ขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย การขุดกรุทำลายพระเจดีย์ถือเป็นความผิดบาปขั้นร้ายแรง • มณฑล (ภาษาซงคา เรียกว่า คิลคน) มณฑล คือ แบบจำลองแผนภูมิจักรวาลอันลี้ลับ มีเทพผู้เป็นใหญ่ประทับอยู่ ณ ใจกลางมณฑล ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการเพ่งมณฑลมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพองค์นั้น เทพแต่ละองค์จะมีมณฑลของตนเองซึ่งแตกต่างจากมณฑลของเทพองค์อื่น และมีพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูปเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการวาดหรือสร้างมณฑลขึ้นโดยเฉพาะ • มณฑลที่พบเห็นบ่อยที่สุดเป็นภาพสองมิติวาดอยู่บนผ้าฝ้าย ประกอบด้วยวงกลมและสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ใช้ผงสีต่างๆ โรยให้เป็นภาพเพื่อใช้ในพิธีสำคัญบางอย่าง มณฑลสามมิติก็มีเช่นกัน ส่วนใหญ่จะหล่อขึ้นจากทองแดงชุบทอง แล้วนำมาติดไว้กับแท่นบูชา • หมุน “กงล้อมนตรา” ทุกวันทุกแห่งหน • วิถีชีวิตประจำวันของชาวภูฏาน แทบทุกคนในภูฏานล้วนต้องทำพิธีกรรมทางตันตระ-วัชระ ตั้งแต่เช้าก่อนออกจากบ้าน ระหว่างทางเดิน จนถึงที่ทำงาน แม้ตอนเดินทางกลับบ้าน และบางคนกระทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้งเวลายืนนั่งนอน ด้วยการท่องมนต์ ทำสมาธิ นับลูกประคำและแกว่งหรือ หมุน “กงล้อมนตรา” • กงล้อมนตรา มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สร้างขึ้นรายล้อมด้วยวัดหรือเจดีย์ รวมทั้งช่องทางเดิน กลางหุบเขาและในแม่น้ำลำธาร โดยกระแสน้ำจะหมุนกงล้อมนตราแทนผู้คนที่เดินผ่าน ตลอดจนถึงกล่องเล็กขนาดมือถือสำหรับสั่นภายในบริเวณบ้านหรือในที่อื่นๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาวภูฏาน • ลักษณะของกงล้อมนตราเป็นแท่นกลมขนาดต่างๆ มีกระดาษมนตราหลายพันบทพับม้วนอยู่ข้างใน มีแกนกลางด้านล่างหมุนได้โดยรอบ ผู้คนจะเข้ามาสักการะ เดินทักษิณาวรรต ใช้มือหมุนกงล้อมนตราทุกกงล้อที่ปรากฎอยู่จนเป็นที่พอใจ นั่นเสมือนว่าได้สวดมนตราหลายพันบทและหลายพันครั้ง ขณะที่หมุนกงล้อจะท่องมนต์ว่า “โอม มณี ปัทเม หุม” มีความหมายว่า “ขออัญเชิญพระธรรมอันล้ำค่าดุจมณีมาสถิตในหัวใจอันบริสุทธิ์ดั่งดอกบัวของเรา”
ศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของภูฏาน • ศิลปะภูฏานได้รับอิทธิพลจากทิเบตมานานนับร้อยๆ ปี เช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ ในเขตหิมาลัย แต่ความแตกต่างในเชิงนิเวศ เศรษฐกิจและสังคม ก็ทำให้ศิลปะของภูฏานเป็นเอกลักษณ์ ศิลปะภูฏานมีลักษณะเด่น 3 ประการคือ 1. ไม่ปรากฎชื่อศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน 2. ศิลปะเป็นงานศาสนาศิลป์ 3. ความงามในศิลปะเชิงสุนทรีไม่ใช่เป้าหมายหลัก เช่นชาวภูฏานถือว่าภาพวาดกับรูปปั้นเป็นงานทางศาสนาไม่ใช่งานศิลปะ • ด้านศิลปะของภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นภาษาและวรรณคดี หรืองานศิลปะประเภทต่างๆ ของภูฏาน เช่น งานหัตถกรรม สถาปัตยกรรม และภาพจิตรกรรมต่างๆ ที่เป็นภาพเขียนสีหรือผ้าปัก ล้วนเป็นภาพพุทธประวัติและภาพพุทธศิลป์ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นภาพขนาดใหญ่ ทำด้วยผ้า ที่เรียกว่า ทังกา (เหมือนทังก้าของทิเบต) ทังกาเป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดและสะท้อนคำสอนในพระพุทธศาสนา ภาพที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ และภาพปริศนาธรรม พระลามะผู้เขียนภาพเองก็ไม่ได้ยึดติดกับความเป็นเจ้าของภาพแต่อย่างใด ไม่มีการลงชื่อไว้ในภาพเลย เพราะถือว่า การเขียนภาพเผยแพร่ธรรมะเป็นการปฏิบัติธรรม แม้ว่าภาพเขียนเก่าแก่บางแห่งจะสวยงามเป็นที่เลื่องลือมากก็ตาม • อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ได้มีการจัดตั้งสตูดิโอศิลปินอาสาสมัคร (VAST) ขึ้นเพื่อสอนศิลปะแบบตะวันตกให้กับเด็กๆ รวมทั้งเพื่อใช้ศิลปะเป็นตัวกลางสื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน (www.vast-bhutan.org0 • จิตรกรรมภูฏาน • งานจิตรกรรมของภูฏานแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ การเขียนลายประดับรูปประติมากรรม การเขียนภาพจิตกรรมฝาผนัง และการเขียนภาพระบฎ หรือ ทังกา 1.การเขียนลายประดับรูปประติมากรรมดินเหนียว จะเขียนลายลงสีทั่วทั้งองค์ ในขณะที่รูปประติมากรรมโลหะ จะลงลายเฉพาะในส่วนพระพักตร์ โดยวาดพระขนงหรือพระมัสสุเส้นบางๆ ไว้ และตวัดปลายให้เฉียงขึ้นเล็กน้อย 2.การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภูฏาน จะเริ่มต้นด้วยการนำดินมาฉาบผนังไว้ชั้นหนึ่ง ปล่อยให้แห้งแล้วขัดผิวให้เรียบ จากนั้นจึงเขียนลายและลงสี เทคนิคที่แพร่หลายในภูฏานคือ ช่างจะเขียนภาพลงบนผืนผ้าให้เสร็จเรียบร้อยก่อนนำไปติดผนัง ผ้าที่ใช้เป็นผ้าชั้นดีเนื้อเรียบ ช่างจะฉาบติดทับผนัง แล้วนำผ้ามาบรรจงติดให้เป็นเนื้อเดียวกันที่มองไม่ออก จากนั้นช่างจะใช้แป้งเปียกชนิดหนึ่ง (ใช้แป้งผสมกับพริกไทยป่น) ฉาบทับเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมากินผ้า 3.การเขียนภาพพระบฎ หรือ ทังกา ที่ภูฏานมีภาพพระบฎอยู่ตามวัดหรือซองอยู่เป็นจำนวนมาก ภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาออกแสดงให้ชมกันตลอดเวลา แต่จะม้วนเก็บรักษาเอาไว้ในหีบและจะนำออกมาแขวนให้ผู้คนได้สักการะบูชากันเฉพาะในช่วงเทศกาล • เทคนิคการวาดภาพทังกา หรือพระบฏ จะเริ่มจาก การนำผ้าฝ้ายไปชุบน้ำพอหมาดๆ แล้วนำไปขึงให้ตึงกับกรอบไม้หรือกรอบไม้ไผ่ ผสมปูนขาวกับกาวให้เข้ากัน แล้วนำมาทาผ้าให้ทั่วแล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นขัดผิวให้เรียบ แล้วขีดเส้นตีตารางเอาไว้ช่วยจัดองค์ประกอบของภาพ บางครั้งช่างจะนำแม่พิมพ์ไม้ซึ่งแกะสลักภาพเอาไว้เรียบร้อยแล้วมาพิมพ์ลงบนผ้าเลย หรือไม่ก็ใช้การพิมพ์ภาพลายฉลุแทน ซึ่งช่างจะนำกระดาษซึ่งฉลุลายเอาไว้แล้วมาทาบกับผ้า ใช้ถ่านขีดไล่ไปตามรอยฉลุ ภาพร่างก็จะปรากฎขึ้นบนผ้า พร้อมให้ลงสีได้เลย • แม้ภาพทังกาหรือภาพพระบฏส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยสีสันอัดหลากหลายอยู่แล้ว แต่บางภาพยังมี การลงสีทองเอาไว้เป็นพื้นหลังแล้วตัดเส้นด้วยสีแดงและดำ ถ้าเป็นภาพเทพเจ้าภาคดุร้ายจะใช้สีดำเป็นสีพื้นแล้วใช้สีแดงและสีทองตัดเส้นแทน เมื่อวาดภาพเสร็จเรียบร้อย ช่างจะนำผ้าต่วนหลากสีมาติดเป็นขอบ แต่ละสีมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ สุดท้าย ช่างจะนำไม้สองท่อนมาติดไว้กับขอบด้านบน และล่างเพื่อใช้เป็นที่แขวน • การทำภาพทังกา ยังมีเทคนิคสำคัญอีกสองอย่างซึ่งไม่เกี่ยวกับการเขียนภาพเลย นั่นคือ เทคนิคการปักและเทคนิการทำอัปปลิเก เทคนิคหลังนี้จะนำมาใช้กับการทำภาพทังกาผื่นใหญ่สำหรับใช้แขวนนอกกำแพงซองในช่วงงานเทศกาลทางศาสนา • ประติมากรรมภูฏาน • ภูฏานนิยมแกะสลักอักษรไว้บนกำแพงหินหรือบนหน้าผา บนแผ่นหินมักปรากฎภาพเทพเจ้าและบุคคลในศาสนาจำหลักเอาไว้อย่างวิจิตรบรรจง ภาพจำหลักที่งามที่สุดจะพบอยู่ที่ป้อมซิมโตคา แต่ละภาพมีจารึกคำบรรยายบอกเล่าว่าเป็นเทพองค์ใด จึงถือเป็นขุมคลังความรู้อันประมาณค่ามิได้ในการศึกษาลักษณะทางประติมาณิวทยาของเหล่าเทพเจ้าของชาวภูฏาน • รูปประติมากรรมดินเหนียวนั้น มีให้พบเห็นได้ทั่วไปในภูฏานและจะลงสีไว้ทั้งองค์ มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่พกพาติดตัวไปได้ จนถึงขนาดใหญ่ความสูง 2-3 เมตร ขั้นตอนจะเริ่มจากการจารึกบทสวดมนต์เอาไว้บนแกนไม้ นำผ้ามาพันทบไว้หลายๆ ชั้น แล้วนำดินเหนียวมาพอกปิดให้มิด แกนไม้นี้ เรียกว่า สกชิง (ต้นไม้แห่งชีวิต นิยมบรรจุไว้ในรูปประติมากรรมดินเหนียว สถูปและรูปหล่อโลหะ) ช่างจะนำแกนไม้กับแผ่นป้ายจารึกคำปฏิญาณที่ทำขึ้นจากดินเหนียวผสมเถ้าอัฐิของผู้ตาย ไปบรรจุไว้ในตำแหน่งที่ถือกันว่าศักดิ์ิสิทธิ์ จากนั้นนำไปขึ้นรูป ปั้นแต่งให้เรียบร้อย แล้วจึงลงสีหรือไม่ก็ทาสีขาวทับทั้งองค์ • สถาปัตยกรรมภูฏาน • ภูฏานมีสถาปัตยกรรมหลายประเภท ได้แก่ ซอร์เตน (สถูปเจดีย์) ฮาคัง (วัด) กมปา (อาราม) ซอง (ป้อม) ไปจนถึงบ้านเรือนแบบภูฏาน ซึ่งประกอบกันเป็นภูมิทัศน์อันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของภูฏาน • ซอร์เตน (สถูปเจดีย์) ถือเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงลามะชั้นสูง หรือเพื่อขับไล่ภูติผีปิศาจร้ายให้ออกไปให้พ้นจากสถานที่ซึ่งถือกันว่าเป็นจุดอันตราย เช่น สี่แยก สะพานและช่องเขา เป็นต้น สถูปเจดีย์ของภูฏานมีทั้งหมด 3 แบบ คือ 1) สถูปาศิลาองค์ใหญ่ที่สร้างตามแบบสถูปโพธินาถในเปาลทาสีขาวทั้งองค์ 2) สถูปศิลาที่สร้างตามแบบทิเบต มีขนาดย่อมลงมา โดยมากจะพบในภาคกลางและภาคตะวันออก และมักปลูกเป็นโรงเรือนไม้คลุมไว้ และ 3) สถูปเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยา มีหลังคาลาดลงมาสี่ด้าน ส่วนบนของผนังทั้งสี่ด้านช่วงที่อยู่ถัดจากหลังคาลงมาจะทาสีแดงเป็นแถบคาดเอาไว้ เจดีย์ทรงนี้จะพบอยู่มากในภาคตะวันตกของภูฏานและภาคตะวันออกของทิเบต • ซอร์เตน หรือสถูปเจดีย์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ต่างจากรูปประติมากรรม ภายในมี ต้นไม้แห่งชีวิต พระพุทธรูป พระสูตร สมุนไพรไม้หอม และอาวุธบรรจุไว้ ระหว่างสถูปสององค์อาจมีกำแพงหินเชื่อมถึงกัน เรียกว่า "กำแพงมานี" ชื่อกำแพงนั้น ตั้งตามชื่อมนต์ซึ่งพบจารึกอยู่บนหินบ่อยที่สุด เป็นมนต์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แต่มนต์ของพระโพธิสัตว์วัชรปราณีกับพระมัญชุศรีก็พบได้ค่อนข้างบ่อยในกำแพงนี้เช่นกัน • ลาคัง (วัด) ลาคังนั้น ถ้าตั้งอยู่เดี่ยวๆ จะหมายถึงวัด แต่ถ้าเป็นส่วนประกอบของอารามขนาดใหญ่ (กมปา) จะมีฐานะเป็นวิหาร หอพระ หรือ หอบูชา ฮาคังในภูฏานเป็นหมู่อาคารเล็กแบบเรียบๆ โดยมากเป็นอาคารชั้นเดียว สร้างล้อมลานปิดขนาดเล็ก ต่างจากบ้านเรือทั่วไปตรงที่มีการทาสีแดงเป็นแถบคาดเอาไว้ตรงส่วนยอดของผนังทั้งสี่ด้าน หลังคาหุ้มด้วยแผ่นทองแดง ข้างในจะวาดภาพประดับฝาผนังเอาไว้ทุกด้าน บางครั้งจะมีหมู่เสาแบ่งโถงชั้นนอกออกจากห้องบูชาชั้นใน หมู่อาคารดังกล่าว อาจถือเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมทางศาสนา บางแห่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ฮาคังแต่ละแห่งจะมีผู้ดูแลอยู่ประจำ ถ้าเป็นวัดประจำตระกูล ผู้ดูแลอาจเป็นสมาชิกในตระกูลนั้น ๆ แต่หากเป็นวัดหลวง ทางองค์กรสงฆ์ส่วนกลางจะจัดส่งผู้ดูแลในสังกัดมาประจำอยู่วัดนั้นๆ • กมปา (อารามขนาดใหญ่) กมปาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อารามหมู่และอารามป้อม 1.กมปาแบบหมู่ มีอายุเก่าแก่กว่าแบบป้อม โดยมีวิหารหนึ่งหรือสองหลังเป็นแกนกลางและมีหมู่อาคารอื่นๆ แวดล้อมเป็นบริวารอยู่โดยรอบ ตัวอย่างของกมปาประเภทนี้ เช่น ซงดรากมปาคาในพาโร พะโจดิงกมปาในทิมพู และทาปาลิงกมปาในบุมทัง 2.กมปาแบบป้อม มีรูปลักษณ์คล้ายป้อม ตรงกลางเป็นหอสูง แวดล้อมด้วยหมู่วิหารหลังเล็กๆ มีกำแพงโอบล้อมอยู่รอบนอก กุฏิสงฆ์กับห้องปฏิบัติศาสนกิจจะสร้างอิงติดกำแพง กมปาแบบป้อมที่งามที่สุดนั้นมีอยู่หลายแห่ง ได้แก่ กังเตกมปาละแวกช่องเขาเปเลลา ตังโกกมปาในเขตทิมพูตอนบน ดราเมซีกมปาในภาคตะวันออก • ซอง (ป้อม) ชาวภูฏานเรียกป้อมว่า ซอง และสร้างไว้ตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซองเป็นทั้งที่ตั้งของหน่วยงานราชการประจำเขตนั้นๆ ที่ตั้งของสงฆ์นิกายดรุ๊กปะ ซองของภูฏานได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่งามที่สุดในเอเวีย ด้วยกำแพงอันแข็งแกร่งแน่นหนา งานเครื่องไม้อันละเอียดประณีตและหลังคาโปร่งลาดอันเป็นเอกลักษณ์ • โดยปกติแผนผังของซองจะประกอบไปด้วยหอกลาง ตรงกึ่งกลางลาน มีห้องสำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์กับกองงานการปกครองที่สร้างอิงติดกับกำแพงแวดล้อมอยู่โดยรอบ มีลานแยกเป็นสองแห่ง เชื่อมต่อกันได้โดยผ่านทางหอกลาง ลานแห่งนี้มีอาคารกรมการปกครองปิดล้อม มีหมู่วิหารและอาคารของสถานขององค์กรสงฆ์เรียงราย เช่น ปูนาคาซอง วังดีโปรดังซอง ทิมพูซอง • สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน สถาปัตยกรรมภูฏานมีไม้เป็นองค์ประกอบค่อนข้างมาก หน้าต่างแบบภูฏานมีเอกลักษณ์อยู่ที่กรอบและขื่นบนซึ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนาแฝงอยู่ในทุกส่วน ซอง ตำหนัก ฮาคังและกมปาที่สำคัญทุกแห่ง จะสร้างด้วยศิลา ส่วนบ้านเรือราษฎรจะใช้วัสดุต่างกันไปตามแต่จะมีในแต่ละท้องที่ บ้านเรือนในชนบทของภูฏานมีลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น เป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหนึ่งหรือสองชั้น นิยมทาสีและเขียนลวดลายประดับอย่างสวยงาม เครื่องเรือนจะเป็นของที่ทำขึ้นแบบง่าย ๆ ตัวบ้านจะหันออกหาลานกว้าง นิยมทาสีขาวทั้งหลังแล้ววาดลวดลายที่เป็นมงคลประดับเอาไว้ ด้วยสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงามรับกันทุกด้านทำให้บ้านเรือนในภูฏานเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่ดูน่ารักสวยงามเป็นเอกลักษณ์ • งานหัตถกรรม ภูฏานจัดหมวดหมู่งานฝีมือของตนเป็น โซริกซูซุม หมายถึง งานช่างสิบสามหมู่ สันนิษฐานว่าการจัดประเภทงานช่างสิบสามหมู่นี้จะมีขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ในสมัยของท่านเต็นชิน รับเย (เดสิคนที่ 4 ปี ค.ศ. 1680-1694) โดยแบ่งออกเป็นงานเครื่องไม้ งานก่อหิน งานประติมากรรม งานจิตรกรรม งานปั้นดินเหนียว งานหล่อโลหะ งานกลึงไม้ งานหลอมโลหะ งานเครื่องประดับ งานสานไม้ไผ่และหวาย งานผลิตกระดาษ งานปัก และงานทอ • ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้งานหัตถกรรมของภูฏานมีราคาค่อนข้างแพง เพราะไม่ใช่สินค้าที่ทำขึ้นเพื่อขายให้กับตลาดนักท่องเที่ยวโดยตรง งานฝีมือส่วนใหญ่เป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปแล้วงานฝีมือในภูฏานมักมีราคาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเซีย รวมถึงผ้าปักและผ้าทอแบบโบราณ สินค้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผ้าทอ มีราคาค่อนข้างแพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะว่า สินค้ามีน้อยไม่พอกับความต้องการ แรงงานในภูฏานขาดแคลน การใช้เครื่องจักรผ่อนแรงก็มีอยู่น้อย การผลิตต้องทำเองกับมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่การย้อมสีด้าย การเข้าป่าไปตัดไม้ไผ่ ไปจนถึงการทอและการถักดิ้นเงินดิ้นทองขลิบขอบผ้า นับเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลายาวนาน ผ้าทอบางชิ้นต้องใช้เวลาทอกันนานนับปี • ผ้าทอภูฏาน ผู้หญิงภูฏานจะทอผ้าอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงในภาคกลางและภาคตะวันออกซึ่งมีฝีมือทางด้านทอผ้าเป็นพิเศษ แต่ละภูมิภาคจะมีผ้าทอในแบบฉบับของตนโดยเฉพาะ • หูกทอผ้าของภูฏานมีอยู่ทั้งหมดสี่แบบด้วยกัน คือ หูกแนวราบมีที่เหยียบ หูกแนวตั้งมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นแถวเรียงต่อกัน หูกกรอบเล็ก (ใช้สำหรับทำเข็มขัดเท่านั้น) และหูกแนวนอนมีด้ายเส้นพื้นพาดเป็นม่านอยู่ด้านหลัง หูกประเภทหลังนี้มีแต่ผู้หญิงชาวลายะในภาคเหนือเท่านั้นที่ใช้กัน • เส้นใยที่ใช้ทอมีทั้งฝ้าย ขนสัตว์ ไหม ทั้งไหมดิบและไหมสำเร็จรูป ขนจามรี และใยต้นเน็ตเทิง (สมัยก่อนใช้ทำเสื้อผ้าด้วย แต่ทุกวันนี้ใช้ทอเป็นถุงย่ามอย่างเดียว มีเนื้อเหนียวและทนทานมาก) พวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนทางภาคเหนือจะใช้ขนจามรีทอเป็นกระโจม เสื้อกันหนาว และเสื้อผ้าที่กันน้ำได้ สีย้อมส่วนใหญ่จะได้มาจากพืชและหินแร่โดยผู้ทอจะทำสีย้อมขึ้นเอง สีย้อมเคมีก็มีใช้ สังเกตได้ง่ายจากสีผ้าที่สดใสสะดุดตาเป็นพิเศษ • ผ้าทอแต่ละชนิดของภูฏานมีชื่อเรียกต่างกันไปตามเส้นใย สีสัน และลวดลาย ผ้าขนสัตว์ลายตารางสี่เหลี่ยมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสีเป็นสำคัญ ชุดผ้าไหมของสตรีที่มีสีขาวเป็นสีพื้นแล้วปักลายดอกประดับ จะเรียกว่าชุดกูซูตารา ถ้าสีพื้นเป็นสีฟ้าจะเรียกว่า ชุด โอซัม ผ้าพื้นเหลืองที่มีแถบสีเขียวและสีแดงคาด ทอลายเป็นลายเชือก จะเรียกว่า ผ้าเมนซิมาทรา • ผ้าภูฏาน ถ้าไม่ทอเป็นแถบลายริ้ว (แนวนอนสำหรับผู้หญิง แนวตั้งสำหรับผู้ชาย) ก็ต้องทอเป็นลายตารางสี่เหลี่ยม (ใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย) ทุกลายจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สวัสดิกะ วงล้อ หรือ วัชระ ฯลฯ • ไหมดิบ หรือ บูรา ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากรัฐอัสสัม ฝักไหมที่ใช้เป็นพันธุ์ Philosome cynthia ไม่ใช่พันธุ์ Bombyx mori ที่ใช้ผลิตผ้าไหมจีน ศรัทธาในพระศาสนาทำให้ชาวภูฏานไม่ต้มฝักไหมในขณะที่ตัวไหมยังอยู่ในฝัก แต่จะรอจนตัวไหมออกจากฝักไปก่อน เส้นใยไหมจึงขาดก่อนที่จะมีการสาวไหมเสียอีก ด้วยเหตุนี้ ผ้าไหมของภูฏานจึงมีเนื้อหยาบกว่าผ้าไหมจีนมาก • เครื่องประดับ ช่างทำเครื่องประดับอัญมณี ทอง และ เงิน ถือเป็นชนชั้นพิเศษในสังคม ถ้าเป็นของใช้ทั่วไปจะใช้เงินทำแล้วค่อยนำไปชุบทองอีกต่อหนึ่ง ถ้าเป็นเครื่องประดับอัญมณีจะมีทั้งที่ทำจากทองและเงิน ส่วนเครื่องเงินจะทำโดยนำเงินมาตีขึ้นเป็นรูป แล้วแกะเป้นสัญลักษณ์นำโชคต่างๆ หรือไม่ก็นำพลอยมาฝังเป็นรูปตามต้องการ • พลอยที่ชาวภูฏานชื่นชอบและนิยมกันมากคือ หินปะการังและ ชี (ชี คือ หินโมราที่เส้นสีขาวฝังอยู่) พลอยสองชนิดนี้มีราคาสูงมาก ชาวภูฏานเชื่อว่า ชีเป็นของที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ความจริง ชีเป็นหินโมราที่ช่างฝังเส้นสีขาวเอาไว้ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน และด้วยเหตุที่เทคนิคดังกล่าวได้สูญหายไปนานแล้ว ชี จึงมีคุณค่าและราคาสูงเป็นพิเศษ • สร้อยหินโมรา ชี และสร้อยลูกปัดหินปะการังเส้นใหญ่ที่สตรีภูฏานสวมใส่กันในงานเทศกาลไม่ใช่ของที่มีไว้ซื้อขาย แต่เป็นมรดกตกทอดกันในตระกูล ปัจจุบันราคาการซื้อขายชีในตลาดภายในประเทศอาจสูงถึง 2,500-3,000 ยูโร และทางการก็ห้ามนำพลอยชนิดนี้ออกนอกประเทศอย่างเด็ดขาด • งานแกะสลักไม้ ไม้ไผ่ และหวาย รูปสลักไม้แกะมักทำขึ้นจากไม้สนหรือไม้วอลนัต ส่วนใหญ่จะทำขึ้นในเขตตาชิยังซี ในภาคตะวันออก งานหัตถกรรมจากไม้ไผ่และหวายส่วนใหญ่จากมาจากชาวบ้านในเขตปกครองเค็ง เช่น คันธนู นอกจากนี้ยังมีการทำกระดาษจากเปลือกไม้ชนิดพิเศษ • ศิลปะการแสดงและดนตรีภูฏาน • ภูฏานได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่มีศาสนาพุทธเป็นแก่นอย่างเด่นชัด ทั้งศิลปะพื้นบ้านและศิลปะระดับชาติ เมื่อพระปัทมสัมภวะหรือคุรุ รินโปเช นำศาสนาพุทธเข้ามาในภูฏานนั้น ท่านต้องต่อสู้กับภูติผีปิศาจที่ชาวพื้นเมืองนับถือ จนสามารถเอาชนะปิศาจต่างๆ ได้ ชาวพื้นเมืองจึงเลื่อมใสศรัทธาด้วยกุศโลบายของท่านปัทมสัมภาวะ ท่านได้ผนวกเอาภูติผีต่างๆ มาทำหน้าที่เป็นธรรมบาลในพระพุทธศาสนา ให้ชาวบ้านเห็นว่า ศาสนาพุทธมีอำนาจอยู่เหนือวิญญาณชั่วร้ายทั้งปวง การทำพิธีทางศาสนาของชาวพุทธในภูฏานจึงต้องมีการร่ายรำของเหล่าภูติผีปิศาจที่มีท่าทางน่าเกลียดน่ากลัว เช่น ระบำกลอง และระบำสวมหน้ากาก เป็นต้น งานแสดงทางศิลปะเหล่านี้จึงจัดขึ้นเป็นงานใหญ่ในเทศกาลประจำปีสำคัญๆ ของภูฏาน • ด้านวัฒนธรรม • ชาวภูฏานเป็นชาวพุทธที่สุภาพ อ่อนน้อม มีน้ำใจ และนับถือผู้อาวุโส ทั้งยังเป็นมิตรและยินดีให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูฏานนั้น สมถะและเรียบง่าย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจน แต่ชาวภูฏานก็มีความสุขและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่นิยมการเบียดเบียนหรือรบกวนผู้อื่น • ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายและสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ หากฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งยังมีกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ (ยกเว้นนักท่องเที่ยวที่นำบุหรี่เข้ามาสูบเอง แต่ก็อนุญาตให้สูบบุหรี่ได้เฉพาะสถานที่บางแห่งเท่านั้น) • ในด้านการสื่อสาร รัฐบาลมีมาตรการควบคุมสื่อทุกชนิด เพิ่งจะอนุญาตให้ประชาชนรับชมโทรทัศน์และมีอินเตอร์เน็ตในปี ค.ศ. 1999 จากเดิมที่รับฟังข่าวสารจากโลกภายนอกได้ทางวิทยุเพียงอย่างเดียว รายการทีวีในภูฏานควบคุมโดยรัฐบาล ซึ่งมีช่องรัฐบาลช่องเดียว ทั้งยังไม่อนุญาตให้ชาวบ้านมีจานรับสัญญาณดาวเทียมที่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์จากต่างประเทศได้ แต่ปัจจุบัน นโยบายนี้ผ่อนคลายลง โรงแรมในเมืองใหญ่ของภูฏานมีโทรทัศน์ที่สามารถรับชมข่าวต่างประเทศได้ • ในด้านการศึกษา รัฐบาลภูฏานมีนโยบายให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรี ดังนั้น เด็กๆ ชาวภูฏานจึงได้รับการดูแลด้านการศึกษาอย่างดี โดยรัฐบาลจัดการให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษกับภาษาภูฏาน (ภาษาซองคา) ในสัดส่วน 50:50 เพราะตระหนักดีว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นประโยชน์และเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ชาวภูฏานสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ • ภูฏานกับสถาบันกษัตริย์ • กษัตริย์เป็นสถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวภูฏานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นกษัตริย์นักพัฒนาแล้ว ความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จเยี่ยมราษฏรและการเข้าถึงประชาชนของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” ของชาวภูฏาน อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคมสมัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลักความสุขมวลรวมของชาติ (Gross National Happiness) แทนการวัดการพัฒนาเป็นค่าทางเศรษฐกิจ
|