ปัญหาการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา
การสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษานั้นได้ทำมาช้านาน ตั้งแต่เดิมนั้นภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับ แต่ผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะมีปัญหาหลายอย่างที่แก้ไขไม่ได้ ในปี พ. ศ. 2518 กระทรวงศึกษาธิการจึงมีดำริที่จะยกเลิกการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาเสียให้เริ่มสอนในชั้นมัธยมต้นแทน แต่คนที่อยู่นอกวงการสอนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่อันได้แก่ผู้ปกครองพากันร้องเรียนให้มีการสอนในระดับประถมศึกษาต่อไป ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการก็จำต้องยอมตามกระแสธารนี้ แต่ด้วยเหตุที่ความเป็นจริงที่ว่าการสอนในระดับนี้ไม่ได้ผลดีประกอบกับแนวปรัชญาของหลักสูตรประถมศึกษามุ่งให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต ภาษาอังกฤษจึงไม่เข้าข่ายนี้ การเรียนภาษานั้น ถ้าวิธีสอนถูกต้อง ตำราดี ภายในระยะเวลาอันสั้น ผู้เรียนก็จะใช้ภาษาได้ การเรียนภาษามิได้ขึ้นกับสติปัญญาของผู้เรียนมากนัก แต่จะขึ้นกับแรงจูงใจ ความสนใจและความพร้อมของผู้เรียน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศให้ภาษาอังกฤษในชั้นประถมปีที่ 5 – 6 เป็นวิชาเลือก และได้ร่างหลักสูตรภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่เพื่อให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตอันเป็นผลให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษามาเป็นเวลานาน
เพื่อความเข้าใจในหลักสูตร ขอให้พิจารณาปัญหาและวิธีแก้ไขการสอนภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้
ปัญหาและการแก้ไข
1. คุณภาพของครู
ครูในระดับประถมศึกษามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน ทั้งหน่วยงานที่ยังไม่สามารถจะบรรจุผู้ที่ได้รับการอบรมหรือสำเร็จวิชาเอกภาษาอังกฤษโดยตรงมาสอนวิชาภาษาอังกฤษได้ ครูที่สอนภาษาอังกฤษในระดับนี้จึงมาจากผู้สำเร็จวิชาเอกนานาชนิด ทำให้เกิดปัญหาในด้านวิธีสอน เพราะขาดความรู้ในกลวิธีสอน รวมทั้งขาดความแม่นยำในเนื้อหาวิชาด้วย การสอนผู้เริ่มเรียนนั้น ความถูกต้องในเนื้อหาและวิธีการสอนจะเป็นผลดีต่อการเรียนของนักเรียนมาก เพราะผู้เรียนจะได้พื้นฐานที่มั่นคงและเกิดความสนใจที่จะเรียนวิชานี้ต่อไป
ปัญหาข้อนี้แก้ไขได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
ก. อบรมครูประจำการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การอบรมระยะสั้น ได้แก่การอบรมปฏิบัติการเป็นระยะเวลา 3 – 5 วัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักวิธีสอน และนำเนื้อหาในหนังสือบางตอนมาศึกษา เพื่อให้สามารถนำไปสอนได้ถูกวิธี
ส่วนการอบรมระยะยาว ได้แก่การอบรม 10 วัน หรือ 1 เดือน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักวิธีสอน และนำเนื้อหาในหนังสือมาศึกษาโดยละเอียด สอนเนื้อหาทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม
ข. ให้คู่มือครูซึ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสอนบทเรียนแต่ละตอนว่าควรจะมีวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมอย่างไรจะบรรลุกิจกรรมในการเรียนอะไรบ้าง จะฝึกนักเรียนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล สื่อการเรียนที่ควรจะใช้มีอะไรบ้าง และจะแบ่งเนื้อหาที่จะสอนอย่างไร ทั้งเนื้อหาในการทบทวน และเนื้อหาใหม่ แต่ละตอนจะใช้เวลาเท่าใด รวมทั้งการวัดผลด้วย
2. ตำราเรียน
เด็กในวัย 10 – 12 ปี นั้นชอบกิจกรรม ชอบทำงานกลุ่ม ต้องการความสนุกสนาน และขณะเดียวกันก็จะรู้จักใช้เหตุผล ต้องการแสดงความสามารถของตนให้คนอื่นเห็น ดังนั้นตำราเรียนจะต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กต้องการ จึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียน นั่นคือ บทเรียนควรจะมุ่งทางด้านให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ มีกิจกรรมกลุ่มให้เด็กได้ทำร่วมกัน แต่ละครั้งที่นักเรียนเรียนรู้สึกว่าบทเรียนสนุก น่าเรียนน่ารู้ ทุกวันได้เรียนรู้ของใหม่และบทเรียนไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป ไม่ทำให้เกิดความท้อถอยหรือเบื่อหน่าย ตำราเรียนสำหรับเด็กวัยนี้จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก เพราะถ้าตำราเรียนไม่สอดคล้องกับลักษณะของเด็ก จะทำให้เด็กเบื่อหน่าย และในที่สุดจะกลายเป็นความรู้สึกต่อต้านวิชาภาษาอังกฤษไปโดยง่าย
3. จำนวนนักเรียน
ตามหลักสากลนั้น ชั้นเรียนภาษาไม่ควรมีจำนวนเกิน 15 คน ดังนั้นจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ในแต่ละชั้นในโรงเรียนทั่วไปในประเทศไทยนั้นจึงถือว่าเป็นชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ครูดูแลทั่วถึง ผลการเรียนจึงไม่สู้ดีนัก นักเรียนที่สมองดีมีความถนัดทางภาษาซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเท่านั้นที่จะเรียนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ปัญหาข้อนี้ต้องแก้ไขที่วิธีการจัดกลุ่มและกิจกรรมการสอน ไม่ควรยึดครูเป็นจุดศูนย์กลาง ( teacher – centered technique ) ดังที่เคยปฏิบัติมา นั่นคือครูเป็นผู้ดำเนินการสอนแต่เพียงผู้เดียว การฝึกทุกตอนครูเป็นผู้ควบคุมโดยตลอด เมื่อมีนักเรียนมาก ครูจึงฝึกได้ไม่ทั่วถึง ในที่สุดผู้ที่ได้ทำกิจกรรมตามที่ครูประสงค์ก็คือนักเรียนเก่งในชั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้วิธีการที่ถูกต้องควรจะเปลี่ยนไปเป็นการยึดผู้เรียนหรือกิจกรรมเป็นศูนย์กลาง ( student – activity – centered technique ) วิธีการแบบหลังนี้จะยึดกิจกรรมในกลุ่มเป็นสำคัญ การสอนเนื้อหาเกือบทุกตอนจะตามมาด้วยกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมทางภาษาร่วมกัน
การจัดกิจกรรมในกลุ่มมีวิธีการดังนี้
1. ชั้นเรียนแต่ละชั้นควรจะมีนักเรียนที่มีความสามารถคละกันทั้งเด็กเก่งและอ่อน เพื่อให้เด็กเก่งเป็นตัวอย่างในการเรียนแก่เด็กอ่อน และทั้ง 2 ฝ่ายจะได้เรียนรู้การให้และการรับ เป็นการสอนวิธีการดำเนินชีวิตในสังคมไปในตัว
2. ในแต่ละชั่วโมง เมื่อมีเนื้อหาที่จะทบทวนหรือเนื้อหาใหม่ ครูจะสอนนักเรียนทั้งห้อง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน เสร็จแล้วให้นักเรียนแยกกลุ่มเพื่อฝึกกิจกรรมอันเดียวกันในกลุ่มเป็นการเสริมแรงให้นักเรียนเกิดความแม่นยำ และได้รับการฝึกอย่างทั่วถึงการแบ่งกลุ่มนั้นอาจจะเป็นกลุ่มเล็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึงกลุ่ม 8 คนก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ลักษณะของบทเรียน กลุ่มที่แบ่งนี้ไม่ควรจะตายตัวตลอดทั้งภาคเรียน ควรเปลี่ยนแปลงบ้างเพื่อให้นักเรียนได้ทำงานกับคนอื่น ๆ ไม่มีความจำเจ ในแต่ละกลุ่มนั้นควรจะเป็นกลุ่มผสม มีทั้งนักเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน
3. ตั้งหัวหน้ากลุ่ม ( tutor ) ซึ่งจะทำหน้าที่แทนครู ในแต่ละกลุ่มรับคำสั่งจากครูว่าในแต่ละครั้งจะต้องทำกิจกรรมอย่างใดในกลุ่มบ้าง หัวหน้ากลุ่มนี้อาจจะเป็นคนที่เก่งหรือไม่ก็ได้ แต่จะต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบดี สามารถจะเป็นผู้นำได้และในบางครั้งอาจจะต้องเป็นผู้ช่วยฝึกบทเรียนเพิ่มเติมให้แก่เพื่อนที่เรียนอ่อนด้วย
การทำกิจกรรมในกลุ่มนั้นจะแก้ไขเรื่องจำนวนนักเรียนมากได้อย่างดี นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้ฝึกภาษาเท่ากัน ในขณะที่ฝึกในกลุ่ม ทุกคนมีโอกาสติติงหรือแนะนำกันเองได้มากกว่าที่ครูคนเดียวจะทำกับนักเรียนทั้งชั้น ดังนั้นในขณะที่มีกิจกรรมกลุ่ม ครูก็จะเดินดูได้รอบห้อง คอยแนะนำและช่วยเหลือกลุ่มที่ทำได้ไม่ดีนัก
4. การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดเกี่ยวกับวิธีสอน
ได้มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีสอนอยู่มิได้หยุดยั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้มีการสอนได้ผลดีที่สุด แนวความคิดใหม่ในวิธีสอน ได้สรุปมีดังนี้
1. มุ่งให้ผู้เรียนใช้ภาษาได้อย่างแท้จริงตั้งแต่ต้นในสถานการณ์จริงหรือสถานการณ์จำลอง
2. ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนแสดงออกโดยการแสดงพฤติกรรม การเรียนการสอนต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
3. การเรียนการสอนยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือในการฝึก และให้นักเรียนได้ใช้ภาษา
4. ส่งเสริมความสามารถในการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนแต่ละคน
5. เน้นการพัฒนาทักษะทางภาษา
แนวความคิดทางการสอนนี้ต่างไปจากเดิมอย่างมากมาย ความล้มเหลวในการสอนภาษาอังกฤษเท่าที่ปรากฏอยู่เป็นที่รู้ซึ้งกันดีทั้งในกลุ่มนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทางที่ควรจะแก้ไขก็คือเปลี่ยนแนวการสอนเสียใหม่
|